เมื่อปี 2011 ผมเริ่มใช้งาน Dropbox เป็นครั้งแรกพยายามจะชวนน้องๆที่ออฟฟิศมาช่วยกันใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครใช้งานจริงจัง เพราะน้องๆไม่เข้าใจว่าจะใช้ไปทำไม ตอนใช้งานไปแรกๆผมก็ออกจะงงๆแล้วมันจะต่างจากพวกแชร์ไฟล์ ส่งไฟล์ขนาดใหญ่ตรงไหน จนไปเจอคลิปนี้เข้าให้ พอเปิดให้ทุกคนดู ตั้งแต่นั้นการแชร์ไฟล์ที่ต้องทำงานร่วมกันในองค์กรก็เปลี่ยนไปสิ้นเชิง
หลายวันผ่านไปจนกระทั่งผมลืมไปแล้ว มีลูกค้าท่านหนึ่งถามเรื่องเทคนิคบางอย่างที่อธิบายได้ยากมากในเวลาอันสั้น แต่จำได้ว่านึกถึงคลิปนี้ขึ้นมาทันทีเลยเปรียบเทียบเปรียบเปรยค่อยๆอธิบายตนลูกค้าท่านนั้นเข้าใจสิ่งที่ถามได้ ผมรู้สึกดีใจอย่างประหลาดมาก เลยนึกถึงว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นตัวอย่างการนำเสนอ (Presentation)เรื่องการอธิบายความได้ดีเป็นอย่างยิ่ง
วิดีโอคลิปใช้เวลาสั้นๆ เสียงพูดชัดเจน มีการใช้ภาพอธิบายโดยไม่ต้องแฟนซีอะไรมากมายนอกจากตัดกระดาษเป็นรูปทรงต่างๆลากไปมาในจอ แต่ที่วิเคราะห์ออกมาได้แล้ว เนื้อหากับโครงสร้างนี่เยี่ยมยอดอย่างบอกไม่ถูกเลย มีการเปรียบเทียบเปรียบเปรยให้เห็นภาพ บอกถึงคุณประโยชน์สำหรับปัญหาที่เราเจอคือ ไฟล์เดียวเนี่ย ต้องย้ายไปย้ายมาทำไมในหลายอุปกรณ์ ทำงานไฟล์นึงในคอมที่ทำงาน ต้องเก็บไฟล์ย้ายไฟล์กลับมาทำต่อที่บ้านอะไรแบบนี้ ผมเลยรี่ไปค้นหาว่าคนที่สร้างคลิปนี้คือใคร มีประวัติอย่างไร ทำไมถึงทำคลิปอธิบายได้สุดยอดเช่นนี้ ลองตามมาอ่านกันด้านล่างนะครับ
Lee LeFever เข้าร่วมประชุมในโครงการหนึ่งราวๆปี 2004 ซึ่งเป็นช่วง Social Media ต่างๆกำลังเริ่มต้น ระหว่างที่มีการหารือนั้น CEO ของบริษัททางด้าน เทคโนโลยีไอทีกำลังอธิบายความหมายของเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า RSS ยุคเริ่มต้นช่วงนั้นเทคโลยีที่ฟรีและการประยุกต์ใช้งาน RSS มีอยู่ในเฉพาะวงแคบ และมีไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้าใจมันคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร เรื่องเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ ชายคนหนึ่งยกมือถาม CEO ว่า
“ที่เรากำลังพูดถึง RSS กันอย่างออกรสชาตินี้ แท้ที่จริงแล้ว RSS มันคืออะไรกันแน่ ผมฟังไม่เข้าใจเลย”
CEO ตอบอย่างมั่นใจว่า “ Oh It is XML based content syndication format” แปลเป็นไทยได้ว่า “อ๋อมันก็คือ 010001 010 0101 010 100 0100 10101 010111”
สองประโยคข้างตนไม่ได้ช่วยอธิบายให้ชายคนที่ยกมือถามคลายความสงสัยได้เลย แถม Lee เองยังมองหน้าเพื่อนร่วมงานและพยักหน้าร่วมกันกับเพื่อน เพราะทุกคน เห็นตรงกันว่า นี่เป็นการอธิบายความที่ก่อให้เกิดความงุนงงสงสัยจากหนูไปเป็นช้าง วินาทีนั้นเองไฟในหัวของ Lee ก็จุดประกายแว๊บขึ้นมาว่า เราน่าจะอธิบาย เรื่องยุ่งยากนี้ได้ดีกว่า CEO ท่านนั้น และนี่คือปัญหาระดับโลกที่คลาสสิคมาก เพราะคนที่รู้มากมักจะชอบอธิบายเสียยืดยาวแต่ที่สุดแล้วก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดี
ในหนังสือ Made to Stick ของ Chip and Dan Heath เรียกสิ่งนี้ว่า คำสาป ของความรู้ (The curse of knowldege)อันเนื่องมาจากการชอบทึกทักเอาเอง ว่าสิ่งที่ตนเองรู้ คนอื่นก็น่าจะรู้เช่นเดียวกันด้วย เขาจึงเริ่มทำวิดีโออธิบายความหมายของคำว่า RSS ให้ดูเรียบง่าย เข้าใจได้ง่าย ผ่านคลิปวิดีโอสั้นๆภายใน 3 นาทีและประสบความสำเร็จในโลกออนไลน์ เพราะคลิปถูกแชร์ ถูกแนะนำ กลายเป็นความฮิตชั่วข้ามคืน
แต่ทั้ง Lee และภรรยา Sachi ก็ยังตั้งคำถามต่อว่า คลิปที่ลงไปมันฮิตขนาดนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่ามันจะเป็นเพลงเหตุการณ์ฟลุ๊คๆที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน Google ติดต่อเข้ามาว่าช่วยทำคลิปอธิบายผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เรียกว่า Google Drive ให้หน่อยเอาแนวเดียวกับที่เคยทำไว้นั่นแหละ
Lee กับ Sachi รู้ในทันทีเลยนี่คือจุดเปลี่ยนจากของทำเล่นๆให้กลายเป็นธุรกิจจริงๆ เพราะหลักการคือการอธิบายว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการคืออะไร ประโยชน์ที่ได้รับ และความสำคัญและคนที่ต้องพึ่งพาการอธิบายนี้ก็คือ วิทยากร คุณครู หรือนักธุรกิจ ปัจจุบันบริการในอินเตอร์มีมากมาย มีเยอะแยะ มีนับไม่ถ้วน แต่พอเข้าไปในเว็บ ซึ่งเต็มตัวหนังสืออัดแน่นอธิบายการใช้งานอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนเล็คเชอร์ ใครที่ไหนจะทนอ่านจนจบ เมื่อคนเข้ามาชม ขี้เกียจอ่าน แม้นว่าจะดีแค่ไหน ธุรกิจก็ไม่เกิดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริการออนไลน์ต่างๆ Common craft จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อช่วยให้การอธิบายความนั้นเรียบง่ายและเข้าถึง ภายในเวลาอันสั้น แต่ปัญหาก็ตามมาเพราะทั้งคู่ไม่อยากต้องมานั่งทำวิดีโอเป็นครั้งๆเพื่อรับค่าแรก หากอยากขยายก็ต้องจ้างทีมงาน มีพนักงาน มีตากล้อง มีคนเขียนบท มีอีกสารพัด
โดยทั้งคู่ต้องการให้ Common craft มีพนักงานแค่ 2 คนเท่านั้น
เมื่อปัญหาคือก็โอกาสท้ายที่สุดทั้งคู่ตกลงใจจะใช้วิธีการขายสิทธิ์ในการใช้งาน ทรัพย์สินทางปัญญาแทน ผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการเพียงแค่สมัครเป็นสมาชิก และทุกคนจะได้สิทธิ์นำเอาวิดีโอที่ทั้งคู่ทำขึ้น นำเอาตัวการ์ตูนในรูปแบบดิจิตอล ไปใช้งานต่อพร้อมทั้งได้สิทธิ์ในเรียนรู้เทคนิคต่างๆในสร้างวิดีโอขึ้นมาเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ Lee ยังเขียนหนังสือชื่อ Art of explanation ออกจำหน่ายอีกด้วย
Common craft ประสบความสำเร็จด้วยคำถามที่ทรงพลัง ถามแล้วลงมือทำ เพื่อช่วยเหลือผู้คนอื่นๆที่มีปัญหาแบบเดียวกันทั่วโลก Lee คงรู้สึกขอบคุณ CEO ท่านนั้นอยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะประโยคนั้นเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดการ
“The more you explain it, the more I don’t understand it”
ยิ่งอธิบายมากเท่าไหร่ก็ยิ่งไม่รู้เรื่องมากเท่านั้น
–Mark Twain–
นี่คือ”ทักษะการนำเสนอ”ที่อธิบายความด้วยการเปรียบเทียบที่ดีที่สุดอันหนึ่งตั้งแต่เห็นมาครับ
Pingback: 7 เครื่องมือเพื่อการนำเสนอให้ถูกสนอง | PresentationBen.com