ได้มีโอกาสดูคลิปวิดีโอของ Nancy Duarte ที่เล่าไว้ใน TEDxEast ไว้อย่างน่าสนว่า การนำเสนอที่ดีๆนั้นมีโครงสร้างแบบไหนถึงตราตรึงคนฟัง โดยยกตัวอย่างการนำเสนอที่สุดยอดไว้สองเรื่องด้วยกันคือ
การเปิดตัว iPhone ในปี 2007 และการพูดของ Dr.Martin Luther King ที่หลายคนรู้จักกันดีคือ I have a dream speech ที่มีโครงสร้างคล้ายกันมาก และทั้งคู่ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอครั้งนั้น
Nancy เริ่มต้นประเด็นโดยการเล่าให้ฟังถึง มนุษย์ทุกคนมีความสามารถและมีเครื่องที่ทรงอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น นั่นก็คือ “ไอเดีย” แต่มันจะไร้ความหมายทันที หากไม่ได้รับการถ่ายทอดอย่างมีศิลปะ
และการที่ไอเดียที่ดีจะรับการยอมรับก็ต้องมีรูปแบบการถ่ายทอดให้แผ่ขยายไปออกไปในวงกว้าง โน้มน้าวให้ผู้คนคล้อยตามหรือเชื่อในไอเดียอันใหม่นี้ เครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดอันหนึ่งในการแปลงไอเดียให้เป็นภาพและช่วยให้ผู้คนเข้าใจ ตื่นเต้น มีอารมณ์คล้อยตามที่มนุษยชาติมีติดตัวกันทุกคนตั้งแต่เกิด โดยเราใช้เครื่องมือนี้อย่างแยบยลและคมคายตั้งแต่มนุษย์ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้เลยด้วยซ้ำ นั่นก็คือ การเล่าเรื่อง (Storytelling)
แล้วเราจะเชื่อมโยงการนำเสนอเพื่อแปลงไอเดียให้ผู้คนยอมรับโดยผนวกกับการเล่าเรื่องที่น่าสนใจได้อย่างไร Nancy จึงพยายามอธิบายต่อว่า การเล่าเรื่องที่ดีมีรูปแบบลักษณะแบบไหนกันหรือ มันมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ถ้าหากเราจะใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อประยุกต์ใช้ในการนำเสนอเชิงธุรกิจ
ที่สุดแล้วหลังจากศึกษารูปแบบ (Shapes) ของการนำเสนอของทั้ง Steve Jobs และ Dr.King จนเข้าใจถ่องแท้และพยายามแกะจากคำพูดหรือประโยคต่างๆรวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงหัวเราะ การปรบมือ การโห่ร้อง เธอก็ได้สรุปรูปแบบเอาไว้ในหนังสือชื่อ “Resonate” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

Resonate by Nancy Duarte : http://www.Duarte.com
โครงสร้างของทั้ง 2 การนำเสนอนั้นจะมีรูปแบบคล้ายกันดังต่อไปนี้คือ
“What is” VS “What could be” : “สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน” กับ “และถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น” โดยยกตัวอย่างประกอบเช่น โทรศัพท์ Smartphone ในปี 2007 เป็นอย่างไร และถ้าหากสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นแบบนี้หละ? เราจะเห็นการกล่าวถึงรูปแบบที่เกิดขึ้นสลับการการที่ Steve Jobs สาธิตการใช้งาน ผู้คนโห่ร้อง ปรบมือ รวมถึงการเชิญแขกรับเชิญขึ้นมานำเสนอเพื่อร่วมด้วยช่วยกันตอกย้ำการสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับไอเดียใหม่ของ Apple และแน่นอน ระยะห่างที่เกิดขึ้นระหว่าง What is VS What could be นั้น กว้างพอที่จะให้ผู้คนนั้นเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้น
สรุปง่ายๆคือการเล่าเรื่องแบบนี้คือ Before-After-Before-After แล้วปล่อยหมัดฮุกท่อนสุดท้ายว่า อยากได้มั้ย มีวางจำหน่ายด้วยราคาเท่าไหร่ก็ว่าไป คนเราส่วนหนึ่งชอบอารมณ์แบบ contrast คือเห็นความแตกต่างชัดเจน เช่น คนอ้วนแต่ไปออกกำลังกาย กินอาหาร ดูแลสุขภาพ พักเดียว Six Pact เต็มท้องเลย ลองสังเกตดูก็ได้ครับ พวกที่แชร์ๆกันอยู่ใน facebook อะไรแบบนี้ เรามักจะหยุดอ่านหยุดฟัง เพราะอยากรู้ว่าเขาทำได้ยังไงกันนะ
ผมลองไปค้นหาเพิ่มเติมว่ารูปแบบการนำเสนอรูปแบบนี้ยังมีผลิตภัณฑ์แบบอื่นที่มีรูปแบบคล้ายกันอีกหรือไม่ ก็ดันไปพบตัวอย่างเข้าจริงๆว่า อืมมมมม มันน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ลองชมวิดีโอด้านล่างนี้ว่าเสื้อ Jacket อะไรกันที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการระดมทุนผ่านเว็บ http://www.KickStarter.com
โดยการวางโครงสร้างนั้นเป็นแบบเดียวกันเลยก็ว่าได้ว่า Baubax ประสบความสำเร็จขนาดหนักเพราะตั้งการระดมทุนไว้แค่ 20,000 เหรียญเพื่อเริ่มผลิตแต่ได้รับการยอมรับไปไกลถึง 9 ล้านเหรียญ
ลองนำเอาไอเดียการวางโครงสร้างแบบนี้ไปเล่าเรื่องหรือผนวกไปกับการนำเสนอดูบ้างก็ได้นะครับ ไม่แน่นะบางทีเราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นกับการนำเสนอของเราเอง
ก็อย่างที่ Nancy ว่าไว้ตั้งแต่ตอนต้น หากไอเดียที่ดีไม่สามารถสื่อสารและกระจายออกไปในวงกว้าง ต่อให้ไอเดียนั้นบรรเจิดขนาดไหนก็ไร้ความหมาย เพราะมันจะอยู่กับเราโดยที่คนอื่นไม่อาจรับรู้ก็เป็นได้
เบญจ์ ไทยอาภรณ์
www.PresentationBen.com
Pingback: เคล็ดวิชาธรรมดาที่ทรงคุณค่าสำหรับนักพูด | PresentationBen.com