ในหมู่นักออกแบบจะมีหลักการยอดนิยมอยู่อันหนึ่งในการยึดเป็นแนวทางสำหรับการออกแบบ พอดีได้ศึกษาเพิ่มเติมว่าหลักการอันนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสไลด์ไม่ว่าจะเป็น PowerPoint หรือ Keynote ได้ แต่ขอทำการดัดแปลงเล็กๆน้อยๆ ปรับเนื้อหาให้เข้ากับ”การนำเสนอ” โดยสรุปออกมาเป็นหลักการทั้งหมด 3 ข้อและเพื่อให้เรียกได้ง่าย ผมก็ขออนุญาตเรียงหัวข้อใหม่ให้เป็นคำว่า CAR เลยละกัน ใครที่เคยอยู่ในระบบ ISO ต่างๆคำนี้อาจจะแสลงหูไปหน่อย เพราะมันคือคำย่อของ การร้องขอให้มีการแก้ไข (Corrective Action Request) ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเรื่องนี้
การออกแบบสไลด์ที่ดีด้วยหลักการง่ายๆ 3 ข้อซึ่งเรียกย่อๆว่า CAR โดยมาจากคำว่า Contrast-Alignment-Repetition จะขออธิบายง่ายๆประกอบคำบรรยายและภาพดังนี้
1) Contrast หมายถึงการออกแบบให้ตัวสไลด์มีการตัดกันอย่างชัดเจน เพื่อให้อ่านได้ง่าย มองเห็นได้ชัดเจน และช่วยให้ผู้ฟังของเรานั้นโฟกัสไปยังจุดที่เรากำหนดบนสไลด์
แต่ Contrast ในสไลด์ที่เราใช้ก็สามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็นหัวข้อย่อยๆได้อีก 3 ข้อคือ
1.1) SIZE ซึ่งหมายถึงขนาด โดยที่เราสามารถปรับขนาดสิ่งที่เราต้องการเน้นให้เด้งให้เด่นออกมา ด้วยขนาดของ Object ต่างๆในสไลด์เช่น ตัวหนังสือที่เป็นหัวข้อ ภาพที่ต้องการให้ผู้ฟังโฟกัส หรือแผนภูมิต่างๆที่เป็นไอเดียหลักที่เราต้องการจะพูดในเนื้อหานั้นๆ หลักการง่ายๆในการออกแบบโดยใช้ SIZE ให้เกิด Contrast ก็คือ ให้สำรวจห้องที่จะใช้ในการนำเสนอให้ดีเสียก่อนว่ามีผู้ฟังซักกี่คน โดยออกแบบให้คนนั่งหลังสุดมองเห็นหรืออ่านออก เพราะถ้าทำแบบนี้แล้ว คนที่นั่งค่อนมาข้างหน้าอ่านออกมองเห็นได้แน่นอน ลองนึกดูว่าถ้าหาก เราไปนั่งฟังการ”นำเสนอ”อะไรซักเรื่องแต่สไลด์ที่ประกอบนั้นเล็กจนอ่านไม่ออกหรือมองไม่ถนัดนี่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาสไลด์มาประกอบทำไม จริงมั้ย?
ตักพวกคำฟุ่มเฟือยที่ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปออกเสียบ้าง เช่นคำเชื่อมต่างๆที่ พัฒนาหารูปแบบต่างๆอยู่เสมอโดยหาตัวอย่างมาศึกษาและพัฒนาเป็นแนวทางของตนเอง
1.2) COLOR ซึ่งหมายถึงสีที่เราเลือกใช้เพื่อนเน้นหัวข้อ ประเด็นหรือว่า ข้อความสำคัญต่างๆให้มีสีตัดกันทำให้อ่านง่าย อ่านสะดวกมองเห็นชัดเจน เลือกสีที่ใช้ซัก 3-5 สี เพราะถ้ามากกว่านี้จะออกแนวแฟนซีจนเกินไป ยิ่งเป็น Business Presentation ซึ่งต้องการความเป็นทางการเป็นอย่างสูงก็ต้องพึงระวังเสียนิดนึง
ลองไปศึกษาเพิ่มเติมสำหรับการเลือกสีสันเพิ่มเติมโดยการ Search หาคำว่า Color Wheel แล้วก็ลองศึกษาทฤษฎีของสีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสไลด์ที่เราใช้ ข้อระมัดระวังเรื่องนี้ มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกันคือ สีบนโปรเจ็คเตอร์ที่ผ่านการใช้งานมาพักนึงแล้วมักจะมีความเข้มลดต่ำลง ซึ่งจะทำให้สีบางสีลดความเข้มลงจนอ่านไม่ถนัดนัก อีกเรื่องก็คือ ผู้คนโดยประมาณ 5-8% มีปัญหาเรื่องตาบอดสี ระวังความแฟนซีของสีที่เราเลือกใช้จะไปมีผลกับคนเหล่านี้
1.3) SHAPE คือรูปทรงต่างๆที่เรานำมาประกอบสไลด์
บางครั้งบางทีสไลด์เรียบๆก็อาจต้องเพิ่มแถบรูปทรงช่วยสร้าง Contrast บ้าง เช่นพวกแถบสีเหลี่ยมยาวๆแล้วนำตัวหนังสือวางด้านหน้าเพื่อให้เกิดการเน้นข้อความที่ต้องการ หรือพวกรูปทรงที่รวมไปถึงพวก Diagram หรือว่า Chart ต่างๆ แม้กระทั้งการใช้ลูกศรหรือไฮไลท์ ผมให้รวมอยู่ในกลุ่มนี้หมด ลองไปหารูปแบบต่างๆเพิ่มจากพวกสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆแล้วลองเอามาปรับใช้กันดู ตัวอย่างของการใช้รูปทรงประกอบนั้นอยู่ด้านล่างครับ

Before

After
2) Alignment หมายถึงการจัดเรียง Object ต่างๆไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ ภาพ กราฟ อะไรต่างๆให้อยู่ในร่องในรอยหรือถูกตัดเรียงด้วยความสวยงาม เช่นตัวอย่างที่จะยกมาด้านล่างเรียกว่า Rule of third ที่ช่างภาพชอบนำมาประยุกต์ใช้ในการวางวัตถุในเฟรมของภาพให้ดูน่าสนใจครับ

จุดตัดที่เป็นวงกลมเป็นจุดที่แนะนำให้วาง Object ที่ต้องการเน้น

ภาพที่วางข้อความตามหลัก Rule of third
ก็ลองนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการทำสไลด์ให้น่าสนใจหรือศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆดูก็ได้ครับ
3) Repetition คือการรักษาความสม่ำเสทอของรูปแบบที่เราเลือกใช้ ให้มันออกแนวๆเดียวกันไปตลอดจนจบสไลด์แผ่นสุดท้าย เช่นพวก สี รูปแบบ โดยควบคุมไม่ให้การออกแบบนั้นดูโดดไปโดดมาจนขาดความเป็นเอกลักษณ์ หรือดูงงๆ
ยกตัวอย่างง่ายๆตามรูปแบบสไลด์ด้านบนนี้ครับ ผมพยายามรักษาแนวทางให้มันกลมกลืนไปด้วยกันโดยใช้สีบังคับและรูปแบบตัวหนังสือ ให้คล้ายๆกันแต่ปรับแต่งให้แตกต่างกันตามหัวข้อที่ต้องการ”นำเสนอ”
สรุปแบบรวบยอดได้ตามรูปด้านล่างนี้ครับ
หวังว่า CAR สำหรับการออกแบบสไลด์น่าจะเข้าใจไม่ยากและสามารถนำไปทดลองปรับเปลี่ยนการออกแบบสไลด์ให้ดูน่าสนใจได้นะครับ ไว้พบกันในโพสต์ถัดไป
เบญจ์ ไทยอาภรณ์
www.PresentationBen.com