การนำเสนอโดยทั่วไปที่อาจเคยผ่านหูผ่านตาหรือแม้กระทั่งลงมือทำเอง เคยมีคนพูดเล่นๆว่ามีอยู่สองรูปแบบ คือ เบื่อมากหรือเบื่อน้อย 🙂 แต่แท้ที่จริงแล้วเราสามารถแก้ไขอาการต่างๆด้วยยาขนานนี้ 9 เม็ดก็น่าจะพอ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
1. สร้างเรื่องราว (Story) ในการนำเสนอ แม้จะมีข้อมูลมากและเป็นการนำเสนอรายงานต่างๆ แต่การสอดแทรกด้วยเรื่องราวที่เชื่อมโยงช่วยให้การนำเสนอดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ประมาณว่า ยกตัวอย่างเช่น…..แล้วก็เล่าเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ก่อนเรามี Powerpoint ใช้กัน บรรพบุรษถ่ายทอดวัฒนธรรมภูมิปัญญาส่วนใหญ่ด้วยเรื่องเล่ากันทั้งนั้น และแน่นอนเรื่องเล่าที่ดี น่าสนุกหรือตื่นเต้น ช่วยให้คนฟังไม่เบื่อ…….หากใครนึกไม่ออกว่าเรื่องเล่าที่ดีเป็นแบบไหน แนะนำให้ไปจิ้มดูกันได้ที่ http://www.ted.com ครับ
2. ผู้ฟังนิยมชมชอบเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเขา (Relavant) หรือถ้านึกง่ายๆ ให้ตอบคำถามแทนผู้ฟังว่าเรื่องนี้แล้วมันเกี่ยวกับฉันยังไง เรื่องนี้มันมีประโยชน์กับฉันมั้ย ฟังแล้วจะได้อะไร ถ้ามันไม่เกี่ยวมันก็เป็นเรื่องผู้พูด และเมื่อมันเกี่ยวแต่กับคนพูด แล้วฉันจะฟังทำไมอะ กดโทรศัพท์ดีกว่า……
3. เรียบง่าย (simplicity) มีแต่คนพูดเรื่องนี้แต่พอทำจริงอะมันยุ่งยากนะไม่ได้ง่าย ใช่ครับความเรียบง่ายของคนฟังมันมาจากความยุ่งยากของคนพูด เพราะต้องออกแบบยังไงให้มันง่ายนี่ต้องพิถีพิถันมากนะ นั่นแปลว่าการเตรียมตัวต้องทำมาอย่างดี รู้จักเปรียบเทียบ เปรียบเปรย แต่เชื่อเหอะ ยิ่งคนฟังเข้าใจในแทบจะทันที ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของเราหรือ Slide ของเราก็ตาม
4. อย่าอ่านสไลด์ (Telepromter) เคยเห็นผู้ประกาศข่าวอ่านสคริปต์ยาวๆขณะที่มองหน้าจอหรือเปล่าครับ จริงๆแล้วผู้ประกาศข่าวมีสิ่งที่เรียกว่า Telepromter ให้คอยช่วยเหลือเวลาอ่านครับ อย่าอ่านสไลด์แบบนั้นเลยเพราะนั่นเท่ากับว่า เรากำลังประกาศว่าเราไม่ได้เตรียมตัวมานำเสนอ สไลด์สามารถมีตัวหนังสือได้เยอะตามที่ใจเราอยากให้มีแต่….ถ้ามีให้เขาไว้อ่าน อ้าว งั้นเราก็พิมพ์แจกเลยดีกว่ามั้ยครับ เอาพอดีๆ ไม่สั้นไม่ยาวแต่ให้เราได้มีโอกาสเปิดปากอธิบายนอกเหนือจากสไลด์บ้างก็ดีครับ
5. Break the ice สำนวนนี้หมายถึงทำลายกำแพงน้ำแข็งที่กั้นเราออกจากผู้ฟังในอันดับเริ่มต้นเสียก่อน ถ้าเป็นการนำเสนอภายในส่วนนี้อาจไม่จำเป็นแต่หากต้องไปอยู่ต่อหน้าผู้อื่นที่เราไม่รู้จัก ช่วงนาทีทองคือ 3-5 นาทีแรก จะทักทาย เรียกชื่อ ให้ทำกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างสีสันก็ทำเถิด ถ้าเนื้อหาไม่แน่นพอ ไม่ทำลายน้ำแข็งเสียก่อน นี่จะนิ่งกันไปยันจบเลยนะ
6. เตรียมอุปกรณ์ Equipment อะไรที่มักไม่เกิดจะเกิดขึ้นเสมอจำเอาไว้ ดังนั้นการไปเตรียมห้องดูที่ดูทาง ในสไลด์มีคลิปมั้ย ต้องเปิดเสียงยังไง ดังแค่ไหน ของจำพวก Adapter หัวต่อต่างๆเพื่ออกจอ Projector เป็นยังไง พร้อมหรือไม่ พวกนี้ทำเอาประสาทกินกันหลายทีแล้วนะครับ ยิ่งคนยิ่งมากยิ่งต้องเป๊ะเว่อร์เลยทีเดียว
7. Time management รักษาเวลาเป็นเรื่องสำคัญสุดยอดของผู้นำเสนอที่ดี ไม่มีใครอยากฟังคนอื่นพูดนานๆหากมันไม่น่าสนใจจริงๆ บางคนแค่แนะนำตัวว่าเป็นลูกใคร จบที่ไหน มีญาติอยู่ที่สิงคโปร์ อะไรแบบนี้กินเวลามาก บางทีกินเวลากับสิ่งที่เตรียมไว้ไปเยอะจนบางทียังไม่เข้าเรื่องเสียที ยาเม็ดนี้สามารถแก้ไขด้วยการออกแผนการนำเสนอ แล้วดำเนินตามแผนครับ เช่น สไลด์แรกควรจะใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที อันถัดมาแค่นาทีเดียว เอาไว้กำกับตัวเราเองให้จบก่อนเวลา ไม่งั้นจะได้ยินประโยคอันคุ้นเคยที่คนฟังไม่ปลื้มเท่าไหร่คือ พอจะมีเวลาเหลือมั้ยครับ ยังเหลือเนื้อหาอีกตั้งครึ่ง ฟังนะอีกหน่อยนะ เฮ้อออออ คนฟังเซ็งนะจะบอกให้…..
8. Q&A การนำเสนอบางรูปแบบ อาจเหลือเวลาในช่วงท้ายให้ซักถาม ดังนั้นเตรียมตัวตอบไว้บ้างก็จะเป็นการดีมากๆเพื่อรับมือกับการตอบที่กระชับและตรงประเด็นและช่วยคลายข้อสงสัยสำหรับผู้ฟัง
9. เตรียมเอกสาร (Handout) หากต้องการใส่รายละเลียดเพิ่มเติมให้ผู้ฟังได้ไปศึกษาต่อหรือทำความเข้าใจเพิ่มในเรื่องรายละเอียด ไม่มีกฎข้อใดกล่าวไว้ว่าต้องพิมพ์สไลด์แจก ดังนั้นสไลด์ที่นำเสนอก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับเอกสารที่แจก แถมยังดูดีซะอีกว่าเราเตรียมตัวมาดี ใส่ใจในตัวผู้ฟัง
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องกินยา แต่ถ้าหากร่างกายเราแข็งแรงเพราะกินอาหารดี หมั่นออกกำลังกาย ยาขนานไหนก็ไม่จำเป็น การนำเสนอเป็นทักษะและต้องการการฝึกฝน อ่านอย่างเดียวถ้าไม่นำไปใช้ ยาดีแค่ไหนก็ช่วยไม่ได้นะครับ