แนวคิดสำหรับเรื่องนี้มีที่มาประมาณว่า ในระยะหลังๆความนิยมในการใช้สไลด์ในการนำเสนอสิ่งต่างๆเริ่มมากขึ้น แต่ก็มีคนกลุ่มใหญ่ใช้สไลด์ประหนึ่งเอกสาร คืออัดแน่นตัวหนังสือหรือข้อความ ข้อมูลเยอะมากจนบางครั้งขาดความน่าชม พลอยให้การนำเสนอทั้งองค์ดูแล้วขาดความน่าสนใจ ยิ่งมาอ่านสไลด์ให้ฟังน่าห้องนี่ยิ่งไปกันใหญ่ ราวๆ 10 ปีก่อนมีหนังสือเล่มหนึ่งเขียนโดย Garr Reynolds ชื่อหนังสือ Presentation Zen พยายามเสนอมุมมองใหม่ในการนำเสนอที่ใช้สไลด์ โดยแก่นที่แท้จริงของเล่มคือ การตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ทำให้สไลด์ดูเรียบง่ายและเข้าถึง (Simplicity) ใช้ภาพ (Visual) เพื่อสื่อให้ได้มากที่สุด กระชับแต่ได้ใจความ
ผมยึดแนวทางของ Garr มาตลอดหลังจากที่เห็น Steve Jobs เปิดตัว iPhone ในปี 2007 ด้วยสไลด์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ก็เลยพยายามขยายแนวคิดแบบเดียวกันให้คนอื่นๆรอบตัว
แต่บางครั้งก็มีข้อโต้แย้งว่า อ้าวแล้วถ้าต้องแสดงข้อมูลเยอะๆ มีตัวหนังสือแยะๆที่จำเป็นต้องใส่เข้าไปจะทำอย่างไงกัน หลายปีต่อมา ผู้นำทางด้านการนำเสนออีกท่านที่เป็นเจ้าของหนังสือด้านการนำเสนออีกเล่มที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันชื่อ Nancy Duarte นักเขียนจากเรื่อง Slide:ology ก็ผุดไอเดียขึ้นมาว่า มันจะมีทางออกแบบไหนบ้างที่สามารถผสมผสานสิ่งที่เกิดขึ้นของการใช้งานสไลด์ของทั้งสองแบบ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งที่ใช้งานสไลด์แบบข้อมูลอัดแน่นกับอีกฝั่งที่ต้องการให้สไลด์ดูคลีนเรียบง่าย
เธอเรียกแนวคิดนี้ว่า Slidedocs เป็นการผสมคำระหว่างคำว่า Documents+Slides ซึ่งฟังดูดีทีเดียว ลองดูภาพด้านล่างประกอบแล้วกันนะครับน่าจะช่วยให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น
ต้นปี 2016 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเข้าฟังการสัมมนาของ ดร.มนสิชา กิตติคุณานันท์ หรืออาจารย์แป้ง เรื่องการนำเสนอและก็มีโอกาสได้ยินแนวคิดคล้ายๆกันนี้เพิ่มขึ้นมาอีกอัน พอได้ฟังจบก็จุดประกายมากว่าจริงๆเราสามารถประนีประนอมแนวคิดของแต่ละฝ่ายออกมาได้อย่างลงตัวดังต่อไปนี้
- พยายามย่อยข้อมูลหรือตัวหนังสือว่าแท้ที่จริงแล้ว แก่นหรือว่าใจความสำคัญของสไลด์นั้นคืออะไร ใช้ Keyword มาทดแทนได้หรือไม่ บางทีเราอาจไม่จำเป็นต้องเขียนสิ่งที่เราอยากพูดทั้งหมดก็ได้
- ทดลองตัดเอาคำฟุ่มเฟือยที่มีในสไลด์ออกไป เช่นพวกคำเชื่อมต่างๆออกไป จะช่วยให้มีช่องทางทำให้จำนวนตัวหนังสือลดลงได้มากทีเดียว
- พยายามเน้นคำสำคัญให้ดูโดดเด่นหรือสะดุดตาผู้ฟัง การเน้นอาจมีหลายแบบให้เกิดความแตกต่าง เช่นใช้สีให้ตัดกัน ใช้ขนาด หรือใช้รูปทรงประกอบ
- ใช้วิชาย่อความให้ได้ไม่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะบางเรื่องเราก็ไม่สามารถตัดออกไปได้ทั้งหมด
- หากไม่สามารถตัดคำต่างๆออกไปได้แล้ว ให้ทดลองจัดกลุ่มของเนื้อหาต่างๆออกเป็นกลุ่มย่อยๆ แบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆแล้วเลียนแบบการวาง Layout ให้เหมือนนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์
- ลองใช้ไอเดียจากสิ่งที่เรียกว่า Photo Collage มาปรับใช้กับการบริหารจัดการพื้นที่ของสไลด์ ไอเดียนี้มากจากการที่เราต้องการจะโพสต์ภาพหลายๆภาพรวมกันให้เป็นภาพเดียวเช่นใน facebook ก็ต้องไปหา App ในการจัดการ เพราะพื้นที่สไลด์มีจำกัดใช้สอยอย่างระมัดระวัง
- อาจลองใช้แนวคิด Infographic มาประยุกต์การใช้งาน เพราะว่าหลายครั้งเราจะพบว่าการย่อยข้อมูลให้กระชับมุ่งเน้นไปที่แก่นของแต่ละข้อความประกอบกับภาพที่อธิบายความ ช่วยให้คนฟังหรือผู้อ่านมีความสนใจเพิ่มมากขึ้น
- ใช้ภาพประกอบ ไอคอน กราฟฟิคต่างๆตกแต่งให้ดูสวยแต่ไม่ต้องดูรกจนเกินไป
ลองมาดูตัวอย่างข้างล่างนี้ดูนะครับหากนึกภาพไม่ออกว่าจะทำแบบไหนได้บ้าง

Before

After

(SWOT) Before

SWOT (After)

SWOT (After)

SWOT (After)
สำหรับสไลด์ตัวอย่างเพิ่มเติมด้านล่างอาจไม่เกี่ยวข้องกับสไลด์ที่มีข้อมูลเยอะๆตัวหนังสือแยะๆแต่น่าจะมีประโยชน์สำหรับไอเดียในการจัดการดีไซน์สำหรับสไลด์ให้ดูน่าสนใจเพิ่มเติมครับ

Organization Chart (Before)
Organization Chart (After)

Organization Chart (After)
สำหรับใครที่อยากเห็นว่า Slidedocs ของ Nancy Duarte เป็นอย่างไงสามารถชมได้ที่ด้านล่างนี้
สุดท้ายนี้คงต้องกล่าวขอบคุณทั้ง Nancy Duarte และ อาจารย์แป้ง มากๆที่ทั้งสองท่านได้จุดประกายเรื่องนี้ให้ผมนำมาถ่ายทอดเป็นไอเดียดีๆสำหรับโพสต์นี้ที่ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับหลายๆท่านที่เคยประสบปัญหาคล้ายๆกัน ก็ลองนำไปปรับใช้กันได้ตามความเหมาะสมละกันครับ
เบญจ์ ไทยอาภรณ์
http://www.PresentationBen.com
FB.me/PresentationCafe