สร้างอินโฟกราฟิกอย่างง่ายด้วย PowerPoint หรือ Keynote

Slide1.jpeg

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีการซ้อมพูดของทีมวิทยากรที่ผมอยู่ในกลุ่มด้วย เขาเตรียมตัวกันไปพูดในงานชื่อว่า Give and Take การกุศลซึ่งจัดมาเป็นครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 7 โดยรายได้ทุกบาททุกสตางค์จะนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนพระดาบส ผมได้มีโอกาสไปพูดด้วยอยู่ 4 ครั้ง โดยความยากของการพูดในเวทีนี้คือให้เวลาจำกัดแค่ท่านละ 10 นาที และห้ามขึ้นมาพูดแบบสอนหรือนำเสนอ (Teach / Presentation) แต่ทุกคนที่ขึ้นพูดต้องใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling) ด้วยข้อกำหนดหลัก 2 ข้อนี้ทำให้พูดจัดงานต้องมีการนัดซ้อมย่อยหลายครั้งซึ่งเท่าที่จำได้คือ คือมีการซ้อมย่อย 2-3 ครั้ง โดยให้เพื่อนๆที่เป็นวิทยากรด้วยกันและอาจารย์ไชยยศ ปั้นสกุลไชย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดงานพูดการกุศลนี้ ร่วมให้ Feedback กับผู้พูด เพื่อนให้คนฟังได้อะไรกลับไปพร้อมความประทับใจของเรื่องเล่าในแต่ละเรื่อง

หลังจากวันซ้อมย่อย อาจารย์ไชยยศก็สรุปเขียนเป็นโพสต์เพื่อให้ผู้ที่ไปซ้อมวันนั้นได้อ่านและผู้ที่สนใจเรื่อง Storytelling ได้อ่านเพิ่มด้วย

นี่อคือรายละเอียดของการโพสต์ในวันนั้นซึ่งได้รับอนุญาตแล้วว่าผมขอนำเอามาเป็นต้นเรื่องในการสร้างอินโฟกราฟิก (Infographics)

เมื่อวานได้มีโอกาส ทำหน้าที่ติวเตอร์ ช่วยบอก ช่วยแนะนำ ช่วยให้หลักการ ทฤษฎีชี้แนะและให้ feedback เกี่ยวกับการเล่าเรื่อง (Storytelling)ให้กับลูกศิษย์วิทยากรทั้ง 10 คนที่จะต้องขึ้นพูดบนเวทีงาน Give&Take การกุศลครั้งที่ 7 ในวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคมปีนี้ เมื่อวานเป็นการซ้อมครั้งที่ 1 (มีนัดซ้อมทั้งหมด 3 ครั้ง)ผมตั้งใจฟังทั้ง 10 เรื่อง ได้หัวเราะ และได้เสียน้ำตาขณะที่ฟังเรื่องเล่าหลายคนเล่าเรื่องได้ดีแล้ว ถือว่าสอบผ่านแต่หลายคนยังต้องแก้ไขปรับปรุงมากบ้างน้อยบ้างตามอาการบางคนปรับอีกเล็กน้อย ซ้อมอีกสักพักก็น่าจะดีขึ้น

ผมขอสรุปอาการที่เห็นว่าเป็นปัญหาที่คนเล่าสามารถพัฒนาปรับปรุงได้ดังนี้คือ บอกให้ได้ว่า Key Message
ของเรื่องที่เราเล่าคืออะไร อะไรคือแก่นของเรื่องนี้ คนเล่าต้องการบอกอะไรกับผู้ฟัง เป็นประโยคเด็ดสัก 1 ประโยคก็พอ ฉะนั้นต้องถามตัวเองก่อนเล่าเรื่องเสมอว่าเรื่องนี้เราต้องการบอกอะไรกับผู้ฟัง(One Message Only) เมื่อวานนี้มีหลายคนที่เล่าแล้ว Key Message ยังไม่ชัดเจน บางคนมีหลาย Message

ในเรื่องเล่าต้องมีตัวละครหลัก(Main Character)ที่ได้ไปเจอกับเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยน(Turning Point) จนทำให้ตัวละครหลักตัวนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนหมายถึงวิธีคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของเขาหรือเธอคนนั้นเปลี่ยนแปลงไป เมื่อวานนี้มีหลายคนที่เล่าแล้วตัวละครหลักยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เปลี่ยนบ้างแต่ยังไม่แรงพอ

เล่าแบบไม่ใส่รายละเอียดไม่บอก GPS ว่าเหตุการณ์ เกิดอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ความรู้สึกนึกคิดในหัวสมองคนเล่ากำลังคิดอะไร เสียงในหัวเราคืออะไรถ้าไม่บรรยายออกมาจะทำให้คนฟังเห็นภาพไม่ชัดฟังแล้วนึกไม่ออก จินตนาการตามไม่ได้เลยไม่รู้สึกตามไปด้วย เมื่อวานบางคนเล่าไม่สุดไม่กระจ่างชัดเจน ไม่สะดวกที่จะเปิดเผยมุมเปราะบางให้ผู้ฟังทราบก็เลยแนะนำให้เปลี่ยนเรื่องใหม่เอาเรื่องที่เจ้าตัวสะดวกใจที่จะเล่าจริงๆ

การเล่าเรื่องเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก จากผู้เล่าไปยังผู้ฟังเมื่อวานนี้มีบางคนที่เล่าแล้วคนฟังเฉย ๆ ไม่รู้สึกอะไรไม่ได้สัมผัสอารมณ์แสดงว่าต้องรีบปรับปรุง

ชื่อเรื่อง กับเนื้อหา ไม่สอดคล้องกัน เล่าเรื่องอย่างหนึ่งตั้งชื่ออีกอย่างหนึ่งฟังจบแล้วไม่อิน ไม่โดน ไม่จับใจบางคนตั้งชื่อเรื่องมาไม่น่าสนใจไปคนละทางกับ Key Message เลยไม่ว้าว ไม่น่าสนใจ

บางคนเพิ่งคิดพล็อตเรื่องได้ไม่นาน ไม่ได้ซ้อมมามากนัก เกิดอาการตื่นเต้นประหม่า ขาดความเป็นธรรมชาติดูไม่ Flow ไม่ลื่นไหล ฟังแล้วไม่สบายหู ดูแล้วไม่สบายตาเรียกว่าอ่อนซ้อมไปหน่อย

 บางคนเล่าแล้วยังดูไม่จริงใส่แอ็คติ้ง ตั้งไจทำมากไปตั้งใจเดินตามที่คิดวางแผนไว้แต่ในการเล่าเรื่องมันมีเคล็ดลับง่าย ๆ ว่าถ้าเราเล่าเรื่องจริงเรารู้สึกก็มันจริงๆแอ็คติ้งจะไม่จำเป็นเลยเพราะร่างกาย ท่าทางของคนเล่ามันจะออกมาเองแบบอัตโนมัติทั้งน้ำเสียง สีหน้า แววตา ท่าทาง ตามความรู้สึกของคนเล่า สรุปคือ ถ้าคนเล่ารู้สึกอย่างนั้นจริงๆแอ๊กติ้งจะมาเอง ไม่ต้องตั้งใจทำมันขึ้นมา

การแบ่งสัดส่วนของเนื้อหา กับเวลา ไม่สมดุลกัน บางคนให้เวลากับเรื่องราวก่อนเกิดจุดเปลี่ยนมากเกินไปทำให้มีเวลาน้อยในการเล่าเรื่องราวหลังเกิดจุดเปลี่ยน ขณะที่บางคนก็เล่าเรื่องราวก่อนเกิดจุดเปลี่ยนน้อยเกินไปให้ความสำคัญกับเรื่องราวหลังจุดเปลี่ยน จึงทำให้คนฟังได้ฟังเรื่องแบบ ขาดๆ เกินๆไม่กลมกล่อมเพราะมันหนักด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป

ขอสรุปวิธีการทำงานส่วนตัวสำหรับการสร้างอินโฟกราฟิก (Infographics)เป็นข้อๆดังต่อไปนี้

1) เป้าหมายของอินโฟกราฟิก (Infographics Objectives) โดยผมตั้งเป้าไว้ง่ายๆคือ ต้องการให้ผู้อ่านหลักคือผู้พูดทั้ง 10 คนได้อ่าน ส่วนจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วยอันนั้นเป็นผลพลอยได้

2) หาข้อมูลเพื่อจัดการเนื้อหา (Content management) อันนี้ถ้าเป็น อินโฟกราฟิก (Infographics) ที่เป็นเรื่องอื่นๆ อาจจะต้องไปรวบรวมหาข้อมูลต่างๆเพิ่มเติม แล้วสรุปเอาแต่ส่วนที่สำคัญเก็บเอาไว้ ลิสต์หัวข้อต่างๆไว้เป็นข้อๆ แต่บังเอิญหัวข้อนี้ผมใช้โพสต์นี้แหละเป็นแหล่งข้อมูล เป็นวัตถุดิบหลัก เลยไม่ต้องไปค้นคว้า รวบรวมอะไรเพิ่มเติมอีก ดังนั้นจึงสรุปออกมาเป็นสิ่งที่ต้องการเขียนได้เลย ลองดูจากเนื้อหาด้านบนประกอบด้วย จึงสรุปเป็นสาระสำคัญที่จะเอามาลงใน อินโฟกราฟิก (Infographics) ได้เป็น 8 ข้อด้วยกัน

Slide2.jpeg

สรุปได้ 8 ข้อ

มีการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออกและมีการปรับเปลี่ยนภาษาเล็กน้อยเพื่อให้กระชับแต่ความหมายของแต่ละหัวข้อนั้นยังคงได้ใจความสำคัญอยู่

3) ตั้งชื่ออินโฟกราฟิก (Infographics) บังเอิญว่าอาจารย์ไชยยศตั้งชื่อโพสต์อยู่แล้ว และส่วนตัวผมก็ชอบชื่อนี้ซึ่งสื่อความทั้งหมดได้ดีจึงใช้ชื่อหัวข้อเป็น “8 ปัญหาหลักของนักเล่าเรื่อง” ต่อมา ในแต่หัวข้อย่อยควรจะตั้งชื่อหัวข้อกันหน่อยจะได้ช่วยให้อ่านง่ายๆ โดยสรุปคือผมก็อ่านแต่ละหัวข้ออย่างละเอียด แต่หาประโยคหรือคำเพื่อแทนความหมายของแต่ละหัวข้อออกมาได้ดังนี้

Slide2.jpeg

ตั้งชื่อหัวข้อย่อย

4) จัดการหน้ากระดาษและเรื่องชนิดของ อินโฟกราฟิก (Infographics) เนื่องจากทำบน PowerPoint หรือ Keynote เราสามารถเลือกการตั้งค่าหน้ากระดาษตามที่ต้องการได้

screen-shot-2016-10-08-at-7-56-26-am.png

การตั้งค่าหน้าของ PowerPoint

Screen Shot 2019-02-12 at 21.25.11.png

การตั้งค่าหน้าของ Keynote

สาระสำคัญตรงนี้คือการเลือกรูปแบบของหน้าที่เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการนำไปเผยแพร่ เช่น จะทำเป็น A4 จะแนวตั้งหรือแนวนอนดี จะเอาไปโพสต์บนโซเชียลมีเดียแบบต่างๆ การจัดการสัดส่วนของหน้า (Aspect Ratio) ก็ต่างๆกันไป ลองไปศึกษารายละเอียดเพิ่มกันดูครับ

จากนั้นก็จะมาดูต่อว่าเป็น อินโฟกราฟิก (Infographics)แบบไหน ซึ่งมีหลายรูปแบบเลย เช่น Listing Infographics คือแบบที่แยกหัวข้อเป็นข้อย่อยๆ Timeline Infogrpahics ก็จะเป็นแบบไล่เรียงไปตามจำนวนปีเช่น ปีที่ 1 ทำอะไร ปีที่ 2 เกิดอะไรขึ้น ปีที่ 3 ขยายกิจการ ปีที่ 4 ได้รับรางวัล อะไรแบบนี้ ส่วน Instruction Infographics ก็จะเป็นการไล่ลำดับขั้นตอนต่างๆเช่น 1 ตีไข่ 2 ใส่เครื่องปรุง 3 เตรียมกระทะให้ร้อน 4 เทไข่ใส่กระทะ 5 ทอดและพลิกกลับ 6 ใส่จาน Comparision Infographics เอาไว้สำหรับเปรียบเทียบ เช่นโทรศัพท์รุ่นต่างๆ อะไรที่สรรพกรให้หักลดหย่อนได้บ้างเทียบกับอะไรที่ลดหย่อนไม่ได้ในกรณีซื้อของช้อปช่วยชาติ Data Visualization Infographics อันนี้ก็จะเป็นการให้ข้อมูลเชิงตัวเลข สถิติต่างๆซึ่งอาจจะมีกราฟมีตารางซึ่งให้ช่วยดูง่ายขึ้น

ในที่นี้ผมเลือก Listing Infographics ดูจะเหมาะที่สุดเพราะจากโพสต์ ผมก็สามารถแบ่งย่อยหัวข้อต่างๆได้ 8 ข้อด้วยกัน สำหรับ Listing Infographics นั้นถ้าอยากฝึกทำแนะให้ไปลองอ่านบทความอะไรก็ได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์แล้วลองสรุปเป็นข้อย่อยๆดูก็ได้ เพราะการอ่านอะไรที่เป็นบทความยาวๆบางทีอาจจะดูอ่านยากไป ถ้ามีคนสรุปเป็นข้อๆจะช่วยให้อ่านได้ง่ายขึ้น

5) จัดการเรื่องดีไซน์ อันนี้อยู่ที่ความชอบของแต่ละท่าน สำหรับหัวข้อนี้ผมเลือกที่จะใช้ภาพที่สื่อความหมายของ Storytelling จึงอยากใช้ภาพคนล้อมวงเล่าเรื่องรอบกองไปเลยเลือกภาพนี้มาใช้

จากนั้นจัดการตีตารางคร่าวๆว่าจะเอาหัวข้อไหนไปอยู่ตรงไหน จัดเรียงยังไง โดยผมเลือกใช้สไลด์ขนาด 16:9 บน PowerPoint เป็นหลักจากข้อที่ 4 หน้าตาก็จะเป็นประมาณนี้

Slide3.jpeg

แบ่งส่วนของหน้าให้ตรงกับหัวข้อ

ส่วนไอคอนที่ผมเลือกใช้ ผมใช้งาน http://www.flaticon.com อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เป็นแบบเสียค่าสมาชิกรายเดือนทำให้ดาวน์โหลดได้ไม่จำกัด แต่ผู้ที่ใช้งานเบื้องต้นสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรีแต่จำกัดจำนวนและต้องใส่เครดิตทุกครั้งด้วยว่ามาจากเว็บนี้จึงจะเป็นการปฏิบัตืที่ถูกต้องตามสิทธิการใช้งานแบบฟรี ถ้าใครอยากเข้าไปใช้โปรดอ่านเงื่อนไขการใช้งานด้วยทุกครั้งจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ตามมาภายหลัง

และนี่คือผลงานการสร้างอินโฟกราฟิกอย่างง่ายด้วย PowerPoint หรือ Keynote ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วครับ

Slide1.jpeg

สร้างอินโฟกราฟิกอย่างง่ายด้วย PowerPoint หรือ Keynote “8 ปัญหาหลักของนักเล่าเรื่อง”

 

ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่เข้ามา ขอบคุณอาจารย์ไชยยศที่อนุญาตให้นำโพสต์มาลองเรียนเป็นอินโฟกราฟิก (Infographics) อย่างง่ายๆ

ลองนำไปลองฝึกทำดูนะครับ
ขอให้สนุกกับการสร้างสไลด์ครับ

เบญจ์ ไทยอาภรณ์
www.PresentationBen.com
FB.me/PresentationCafe

Slide1.jpeg

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s